วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

น้ำมันจากแสงแดด

ไทยเราตระหนักถึงการนำพลังงานทดแทนมาใช้เป็นอย่างมาก เห็นได้จากโครงการ “ลพบุรี โซลาร์” โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก


พลังงานทดแทน (Alternative/Renewable Energy) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกของการใช้พลังงานและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในยุโรปการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง เพราะได้ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่เป็นธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เป็นที่น่าดีใจว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราตระหนักถึงการนำพลังงานทดแทนมาใช้เป็นอย่างมาก เห็นได้จากโครงการ “ลพบุรี โซลาร์” โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดกำลังผลิต 73 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ตำบลวังเพลิง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี งบลงทุน 8,000 ล้านบาท และใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบาง (Thin film Solar Panel) จำนวนกว่า 540,000 แผง

โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคมนี้ และสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก จึงจะช่วยประเทศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่า 1.3 ล้านตันตลอดอายุการดำเนินโครงการ 25 ปี และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้มากถึงปีละ 35,000 ตัน นับเป็นก้าวสำคัญและเป็นอภิมหาโปรเจคของประเทศไทยในการนำพลังงานทางเลือกมา ใช้ในประเทศ

นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์จะนำมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า อีกกระแสหนึ่งที่นับว่าแรงมากคือ การผลิตน้ำมันจาก แสงอาทิตย์ ในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากผลผลิตทางการเกษตรหรือซากสิ่งของที่ เหลือใช้ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือแม้กระทั่งซากเปลือกหรือหญ้า มาย่อย หมักและผลิตเป็นเอทานอล หรือที่เรียกว่า พลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นที่รู้จักกันดี

แต่เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดคือ การเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแสงอาทิตย์เป็นน้ำมันโดย ตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางซึ่งก็คือพืชนั่นเอง โดยอาศัยจุลชีพที่สังเคราะห์แสงได้ (photosynthetic microorganisms) ซึ่งได้จากการตัดแต่งหรือสังเคราะห์ยีนขึ้นมาให้มันมีความสามารถดังกล่าว เรียกว่า Synthetic Biology

ปัจจุบันมีนักวิจัยหลายกลุ่ม กำลังพยายามค้นหาและสังเคราะห์สิ่งมีชีวิตดังกล่าว รวมทั้ง Craig Venter ได้ก่อตั้งบริษัท Synthetic Genomics เพื่อสังเคราะห์สิ่งมีชีวิตนี้

ขณะที่บริษัท Joule Biotechnologies ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาของระบบพลังงานชีวมวล ที่เปลืองน้ำในการเพาะปลูกและกินพื้นที่อีกด้วย โดยสร้างระบบผลิตน้ำมันด้วย การใช้รีแอกเตอร์ที่ไม่ต้องใช้น้ำบริสุทธิ์ และใช้พื้นที่น้อยกว่าการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานชีวมวล แต่ประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่าเป็น 100 เท่าต่อหน่วยตารางเมตร และเป็น 10 เท่าเมื่อเทียบกับซากผลผลิตการเกษตร เป้าหมายก็คือ ต้องทำให้ราคาต้นทุนการผลิตน้ำมันจากแสงอาทิตย์นี้ ให้มีราคาต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเรายังใช้พลังงานกันแบบปัจจุบัน คาดการณ์ว่าถึงปี ค.ศ.2050 พลังงานทดแทนจากชีวมวลและเอทานอล ก็ยังคงเป็นเพียงร้อยละ 26 ของพลังงานที่ใช้สำหรับการคมนาคมขนส่งอย่างเดียว

การพยายามเพื่อหาพลังงานมาทดแทนน้ำมันนั้น มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพียงแต่เมื่อไรมนุษย์จะตระหนักได้ว่า ถ้าลดการใช้อย่างสิ้นเปลือง เราคงมีพลังงานใช้กันได้นานขึ้น และลดมลภาวะ แต่ยิ่งถ้าผลิตมากใช้มาก มันจะไม่ต่างอะไรกับการเผาโลกที่เราอยู่นี้เลย

* ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น